วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

ศิลปะบาโรก

                   บารอก (ฝรั่งเศส: Baroque) หรือบาโรก เป็นสมัยหนึ่งของศิลปะตะวันตกซึ่งเริ่มประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี บาโรกจะเน้นความเป็นนาฏกรรม ศิลปะจะแสดงความขัดแย้ง (tension) และความหรูหรา โอ่อ่า บาโรกเป็นลักษณะของ ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรม นาฏศิลป์ และดนตรี ถ้ากล่าวถึงดนตรีแบบบารอกก็จะหมายถึงสมัยสุดท้ายของเคาน์เตอร์พ็อยต์ (Counterpoint) ที่กล่างวถึงความสัมพันธ์ของการเล่นระหว่างเสียงหรือเครื่องดนตรีมากกว่าสองชนิดที่อาจจะสะท้อนกันและกัน แต่คนละระดับเสียง หรือบางครั้งก็อาจจะสลับเสียงสะท้อน หรือไม่อีกทีก็อาจจะย้อนแก่นสาร (reversing theme) ของดนตรีชิ้นนั้นไปเลย
                ยุคบารอกรุ่งเรืองขึ้นมาด้วยการสนับสนุนจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก ระหว่างการประชุมสภาสังคายนาแห่งเทรนต์ เมื่อปี ค.ศ. 1545-1563 ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันที่นั่นก็คือเรื่องความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและศาสนา ทางที่ประชุมตกลงกันว่าศิลปะควรจะสิ่งที่สื่อสารเรื่องศาสนาโดยใช้วิธีจูงใจและสะเทือนอารมณ์ผู้ดูโดยตรง ในขณะเดียวกันอภิชน (Aristocracy) สมัยนั้นก็เห็นว่าแบบบารอกเป็นศิลปะที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ดู เป็นศิลปะที่แสดงความถึงความมีอำนาจของเจ้าของ วังแบบบาโรกจะสร้างต่อเนี่องกัน (sequence) จากห้องพักรอ (anterooms) ถึงบันไดใหญ่ (grand staircases) ไปจนถึงห้องรับรองใหญ่ (reception rooms) แต่ละตอนก็เพิ่มความโอ่อ่าขึ้นตามลำดับ รายละเอียดตกแต่งหรูหราและอลังการเช่นนี้เป็นลักษณะของศิลปะสมัยนี้ ลักษณะเช่นนี้ครอบคลุมศิลปะทุกแขนง ศิลปินบาโรกจะนิยมใช้รายละเอียดใกล้เคียงกัน (repeated and varied patterns) ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ๆละครั้งจะค่อยๆแปรเปลี่ยนลวดลายไปทีละเล็กละน้อย ลักษณะของศิลปะแบบบาโรกที่เด่นและแตกต่างจากสมัยอื่นคือ จะออกไปทางที่เรียกกันว่าอลังการ จะเต็มไปด้วยลวดลายประดิดประดอย สีจัด หน้าตารูปปั้นจะไม่จงใจให้เหมือนจริงแต่จะเป็นหน้าอิ่มเอิบเหมือนเทพ
                 คำว่า Baroque เป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งสันนิษฐานกันว่ามาจากคำว่า barroco ในภาษาโปรตุเกสโบราณซึ่งหมายถึงหอยมุกที่มีรูปร่างอ่อนไหวม้วนไปมา แต่ที่มาในภาษาอังกฤษไม่ทราบแน่ว่ามาจากภาษาใดหรือจะมาจากแหล่งอื่น คำว่าบาโรกเองนอกจากจะหมายถึงศิลปะที่รุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้วก็ยังหมายถึงความโอ่อ่าที่เต็มไปด้วยรายละเอียด บางครั้งคำนี้อาจจะพูดถึงศิลปะที่มีการตกแต่งจนค่อนข้างจะไปทางอลังการ

“การแต่งงานของนักบุญแคทเธอรินแห่งอเล็กซานเดรีย”
(The Mystic Marriage of St. Catherine) โดย อันโตนิโอ ดา คอร์เรจจิโอ

1.วิวัฒนาการ
                      ศิลปะแบบบาโรกเริ่มมีความนิยมกันครั้งแรกเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 หลังจากการประชุมแห่งเมืองเทรนต์ ทางที่ประชุมเรียกร้องให้ศิลปินเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างศิลปะ โดยให้สร้างจิตรกรรมและประติมากรรมทางศาสนาเพื่อคนไร้การศึกษา เพื่อให้คนเหล่านี้มีความเข้าใจในศาสนาและมีความศรัทธาเพี่มขึ้น แทนที่จะสร้างศิลปะเฉพาะผู้มีการศึกษาเท่านั้น การใช้ศิลปะเพื่อศาสนา มีอิทธิพลเริ่มมาจากผลงานของ การาวัจโจ และ พี่น้องการ์รัชชี ทั้งสองกลุ่มนี้ทำงานอยู่ที่กรุงโรมในระยะนั้นศิลปะแบบบาโรกแยกตัวจากศิลปะแบบจริตนิยมของสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเน้นการประเทืองปัญญา มาเป็นศิลปะที่เน้นทางอารมณ์และความรู้สึก และทางนาฏกรรม (dramatic presentation) จุดมุ่งหมายคือทำให้ผู้ดูเข้าใจศิลปะได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องตีความหมายที่ศิลปินแอบแฝงเอาไว้ นอกจากนั้นเข้าใจแล้วยังเกิดความสะเทือนอารมณ์ เนื้อหาของศิลปะแบบบาโรกมักจะเอามาจากเรื่องของวีระชนต่างๆ เช่น ประวัติพระเยซู หรือนักบุญต่างๆ อย่างเช่นผลงานของอันนีบาเล การ์รัชชี และศิลปินในกลุ่มเดียวกัน คารัคชีซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก การาวัจโจ และ Federico Barocci สองคนหลังนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่มโปรโตบารอก (proto-Baroque) ศิลปินอีก 2 คนที่ถือกันว่ามีอิทธิพลต่อการวิวัฒนาการของศิลปะแบบบาโรกคือ มีเกลันเจโล และ Correggio ด้วย
                     เมื่อพูดถึงดนตรีบาโรกก็จะเป็นดนตรีที่เน้นเคาน์เตอร์พ็อยท์ และความกลมกลืน แทนที่ใช้เครื่องดนตรีอย่างสลับซับซ้อนอย่างออเค้สตร้า ลักษณะนี้เป็นลักษณะเดียวกับกวีนิพนธ์บาโรกซึ่งจะเน้นถึงความไม่ซับซ้อนแต่จะเน้นไปทางนาฏกรรม จะเลี่ยงการใช้อุปมาอุปมัยอย่างงานของจอห์น ดัน (John Donne) ซึ่งเป็นงานเขียนแบบแมนเนอริสซึม วรรณคดีที่ถือกันว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของวรรณคดีแบบบาโรก คืองานที่มีอิทธิพลมาจากภาพเขียนของ จอห์น มิลตัน ชื่อ “สวรรค์หาย” (Paradise Lost) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1667
                    ถึงแม้ว่าศิลปะแบบร็อกโคโคจะเข้ามาแทนศิลปะแบบบาโรกเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะการตกแต่งภายใน ภาพเขียน หรือมัณฑนศิลป์ แต่ทางด้านสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมแบบบาโรกก็ยังเป็นที่นิยมกันมาจนถึงสมัยศิลปะแบบ Neoclassics เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือปราสาทนีอาโพลิทันที่คาเซอร์ทา (Neapolitan palace of Caserta) ซึ่งไม่ได้เริ่มสร้างจนกระทั่งปี ค.ศ. 1752
                   เมื่อพูดถึงจิตรกรรม การวางท่าของแบบในภาพเขียนแบบบาโรกจะกว้างกว่าแบบแมนเนอริสซึม เนื้อหาของภาพจะไม่กำกวมหรือมีเลศนัยหรือต้องตีความหมาย การวางท่าอาจจะเปรียบเทียบได้กับท่าทางอย่างโอ่อ่าแบบตัวละครโอเปร่า โอเปร่าเองก็ถือกันว่าเป็นศิลปะแบบบาโรกโดยแท้ ท่าบาโรกจะขึ้นอยู่กับความขัดแย้งในตัวแบบ โดยจะเห็นได้จากการวางไหล่และสะโพก จะวางบิดจากกัน การวางท่าอย่างขัดแย้งกันอย่างนี้ทำให้ผู้ดูภาพหรือรูปปั้นมีความรู้สึกเหมือนตัวแบบกำลังจะเคลื่อนไหวออกจากรูป ตัวอย่างของการวางที่ที่กล่าวมาจะเห็นได้ชัดจากรูปปั้นชื่อ Ecstasy of St. Teresa ที่วัดซานตามาเรีย เดลลา วิตอเรีย (Santa Maria della Vittoria) ที่กรุงโรม แกะจากหินอ่อนโดยจัน โลเรนโซ แบร์นีนี
                   ศิลปะแบบบาโรกยุคหลังเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จะค่อนข้างขาดชีวิตจิตใจและสีสรรค์จะไม่ฉูดฉาดเมื่อเทียบกับสมัยแรกๆ สถาปัตยกรรมสมัยนี้บางทีก็แยกออกมาเป็นสมัยปลายบาโรก อย่างเช่นงานของ คลอด เปอโรลด์ (Claude Perrault) สมัยนี้เรียกกันว่านีโอพาลลาเดียน (neo-Palladian) งานที่เด่นๆ สมัยนี้ก็คืองานของวิลเลียม เคนต์ จิตรกรชาวอังกฤษ ที่เชี่ยวชาญทางการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบโดยเค้นท์มีอิทธิพลโดยตรงมาจากเฟอร์นิเจอร์แบบบาโรกที่กรุงโรมและเมืองเจนัว
                     ไฮริช เวิฟฟริน (Heinrich Wölfflin) ตีความหมายศิลปะแบบบาโรกว่าเป็นยุคที่รูปรีใช้เป็นศูนย์กลางขององค์ประกอบแทนวงกลม ศิลปะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแทนความสมดุล ความมีสีสรรค์ ("painterly") กลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดส่วนหนื่ง
                    นักประวัติศาสตร์ศิลปะโดยเฉพาะชาวโปรเตสแตนต์ เน้นว่าศิลปะแบบบาโรกเริ่ม วิวัฒนาการขึ้นมาระหว่างที่ทางคาธอลิกมีปฏิกิริยาต่อการการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และสันนิษฐานกันว่าศิลปะแบบบาโรกเป็นศิลปะที่ทำให้ศาสนจักรคาทอลิกรักษาเกียรติศักดิ์และยังมีหน้ามีตา หรืออาจจะได้ว่าเรียกว่าเป็นการปฏิรูปคาทอลิกก็ได้ อันนี้จะจริงหรือไม่ศิลปะแบบบาโรกก็เริ่มเจริญขึ้นมาที่กรุงโรม

2.ดนตรียุคบาโรก
                      ในยุคบาโรก เริ่มมีการใช้เครื่องดนตรีหรือเสียงร้องเล่นประชันกัน เช่น เสียงร้องประชันกับเครื่องดนตรี หรือการเดี่ยวประชันเครื่องดนตรีบ้าง ซึ่งเรียกกันว่า Stile Concertante มีการใช้บาสโซคอนตินิวโอ (Basso Continuo) คือการที่เสียงเบส (เสียงต่ำ) เคลื่อนที่ตลอดเวลา โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวเลขบอกถึงการเคลื่องที่ไปของเบส รวมถึงเสียงแนวอื่นๆ ด้วย ทำให้เกิดคอร์ดขึ้นมา เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นบาสโซคอนตินิวโออาจเป็นคีย์บอร์ด เช่น ออร์แกน ฮาร์ปซิคอร์ด หรือเป็นกลุ่มของเครื่องดนตรี เช่น วิโอลา เชลโล และบาสซูน
                      มีการใช้บันไดเสียงเมเจอร์ และบันไดเสียงไมเนอร์แทนโหมด (Mode) รูปพรรณของเพลงเป็นแบบสอดประสานทำนอง ที่เรียกว่า Contrapuntal เริ่มมีการใช้การประสานสียงแบบโฮโมโฟนี (Homophony) คือ การเน้นความสำคัญของทำนองหลักโดยมีเสียงอื่นเล่นเสียงประสานคลอประกอบ มีการด้นสด (Improvisation) ของนักดนตรี โดยนักดนตรีจะแต่งเติมบทเพลง เริ่มมีการกำหนดความเร็วจังหวะของเพลง และความหนักเบาของเพลงลงในผลงานการประพันธ์ เช่น Adagio Andante และAllegro
                    รูปแบบของเพลงบางประเภทมีการพัฒนาจนมีแบบแผนแน่นอน ได้แก่ ฟิวก์ ลักษณะของเพลงร้องของดนตรียุคบาโรก ได้แก่ โอเปร่า คันตาตา และออราทอริโอ ส่วนลักษณะรูปแบบ (Form) ของเพลงบรรเลง ได้แก่ โซนาตา คอนแชร์โต และเพลงชุด (Suite) ซึ่งเพลงชุดเป็นการนำเพลงจังหวะเต้นรำที่มีหลายลักษณะมาบรรเลงต่อกันเป็นท่อนๆ เพลงจังหวะเต้นรำแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในเพลงชุด ได้แก่ Allemande, Courante, Sarabande, Gavotte, Bourree, Minuet และGigue เป็นต้น
เพลงโบสถ์ยังเป็นที่นิยมในการประพันธ์ เพลงที่ประพันธ์กันในยุคนี้ คือ เพลงแมส โมเท็ต คันตาตา ออราทอริโอ และแพสชั่น (Passion) คือเพลงที่บรรยายเกี่ยวกับพระเยซูถูกตรึงกางเขน เป็นต้น
                     เครื่องดนตรีของดนตรีแนวนี้ คือการใช้เครื่องสายตระกูลวิโอลค่อยๆ ลดความนิบมในการใช้ลง คงหลงเหลืออยู่เพียงการพัฒนาที่กลายมาเป็นดับเบิลเบสในปัจจุบัน เครื่องสายที่เข้ามาแทนที่คือ ตระกูลไวโอลิน ซึ่งประกอบด้วย ไวโอลิน วิโอล่า และเชลโล่ ออร์แกนได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น และเริ่มมีการพัฒนาเปียโน เครื่องดนตรีเครื่องเป่าที่ใช้ในยุคนี้ คือ โอโบ บาสซูน และฟลูต เครื่องดนตรีที่ใช้ในการผสมวงของวงออร์เคสตรายังไม่มีการกำหนดเป็นที่แน่นอน
                    การบันทึกตัวโน้ตได้รับการพัฒนาจนเป็นลักษณะการบันทึกโน้ตที่ใช้กันในปัจจุบัน คือ การใช้บรรทัดห้าเส้น การใช้กุญแจโซ (G Clef) กุญแจฟา (F Clef) กุญแจอัลโต และกุญแจเทเนอร์ (C Clef) มีการใช้ตัวโน้ตและตัวหยุดแทนค่าความยาวโน้ต และตำแหน่งของตัวโน้ตบนบรรทัดห้าเส้นแทนระดับเสียง และยังมีตัวเลขบอกอัตราจังหวะ มีเส้นกั้นห้อง และสัญลักษณ์อื่นๆ เพื่อใช้บันทึกลักษณะของเสียงดนตรี

อ้างอิง
คมสันต์ วงค์วรรณ์. ดนตรีตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2551

เยเรเมียส ฟานฟลีต

เยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัน วลิต  พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย เป็นผู้อำนวยการการค้าของอีสต์อินเดียในกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระหว่าง พ.ศ. 2176 ถึง พ.ศ. 2185 และได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับประเทศไทยไว้ 3 เล่ม  เป็นภาษาดัตช์ ต่อมาได้มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ
  • Description of the Kingdom of Siam (การพรรณนาเรื่องราชอาณาจักรสยาม) เมื่อ พ.ศ. 2179 แปลเป็นภาษาไทยโดยกรมศิลปากร
  • The Short History of the Kingdom of Siam (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยสังเขป) เมื่อต้นปี พ.ศ. 2183 แปลเป็นภาษาไทยโดย พล.ต.ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี ชื่อ "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา" และโดยวนาศรี สามนเสนและประเสริฐ ณ นคร ชื่อ "พระราชพงศาวดารสังเขป"
  • The Historical Account of the War of Succession following the death of king Pra Interajatsia, 22nd King of Ayuthian Dynasty (รายงานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามสืบราชสมบัติหลังจากสมเด็จพระอินทรราชา  เมื่อปลายปี พ.ศ. 2183 แปลเป็นภาษาไทยโดยกรมศิลปากร ตีพิมพ์ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 ชื่อ "จดหมายเหตุวันวลิต (ฉบับสมบูรณ์)"
นายฟานฟลีตออกจากสยามในปี พ.ศ. 2184

วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

Venice เวนิส

1.ภูมิศาสตร์และประชากร
                   เวนิส (Venice) หรือ เวเนเซีย (Venezia) เป็นเมืองหลวงของแคว้นเวเนโต ประเทศอิตาลี มีประชากร 271,663 คน (ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม 2547) เมืองเวนิสได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งทะเลอาเดรียตริก (Queen of the Adriatic), เมืองแห่งสายน้ำ (City of Water), เมืองแห่งสะพาน (City of Bridges), และ เมืองแห่งแสงสว่าง (The City of Light)
                   เมืองเวนิสถูกสร้างขึ้นจากการเชื่อมเกาะเล็ก ๆ จำนวนมากเข้าด้วยกันในบริเวณทะเลสาบเวนิเทีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอาเดรียตริก ในภาคเหนือของประเทศอิตาลี ทะเลสาบน้ำเค็มนี้ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งระหว่างปากแม่น้ำโปกับแม่น้ำพลาวิ มีผู้อยู่อาศัยโดยประมาณ 272,000 คน ซึ่งนับรวมหมดทั้งเวนิส โดยมี 62,000 คนในบริเวณเมืองเก่า 176,000 คนในเทอร์ราเฟอร์มา (Terraferma) และ 31,000 คนในเกาะอื่นๆ ในทะเลสาบ

2.ประวัติศาสตร์
            เมืองเวนิสเดิมเป็นชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลากูนที่รวมตัวเข้าด้วยกันเพื่อต่อต้านอันตรายจากชนลอมบาร์ด, ชนฮั่น และกลุ่มชนอื่นที่เริ่มเข้ามารุกรานหลังจากอำนาจของจักรวรรดิโรมันตะวันตกเริ่มลดถอยลงในบริเวณทางตอนเหนือของอิตาลี ในเวลาระหว่างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชุมชนในบริเวณลากูนก็เลือกตั้งผู้นำคนแรกออร์โซ อิพาโต (Orso Ipato) ที่ได้รับการอนุมัติจากไบแซนเทียมและได้รับตำแหน่ง “Hypatos” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้ในจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่เทียบเท่ากับ “กงสุล” และ “Dux” ที่ต่อมาแผลงมาเป็น “ดยุค” ออร์โซ อิพาโตเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นดยุคแห่งเวนิส (Doge of Venice) คนแรก แต่ในหลักฐานจากคริสต์ศตวรรษที่ 11 กล่าวว่าชาวเวนิสประกาศให้เพาโล ลูชิโอ อนาเฟสโต (Paolo Lucio Anafesto) เป็นดยุคในปี ค.ศ. 697 แต่หลักฐานนี้ก็เป็นเพียงบันทึกของจอห์นผู้เป็นดีคอนของเวนิส แต่จะอย่างไรก็ตามดยุคแห่งเวนิสก็มีอำนาจอยู่ที่เอราเคลีย


3.การคมนาคม
เวนิชเป็นเมืองที่มีการใช้คลองในการคมนาคมมากที่สุด มีอาคาร ร้าน บ้านเมืองตั้งริมคลอง มีเรือบริการในการเดินทางไปในที่ต่างๆของเมืองมีการบริการท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ธรรมชาติของ 2 ฝั่งคลองโดยทางเรือ นับเป็นเมืองที่คลองมากกว่าถนนอีกเมืองหนึ่งของโลก พาหนะหลักของเมืองเวนิสคือเรือ "กอนโดร่า" ซึ่งเป็นเรือขนาดเล็กสำหรับส่งผู้โดยสารและสิ่งของ เรือกอนโดร่ายังเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเมืองเวนิสอีกด้วย

4.สถานที่ท่องเที่ยว

วังดูคาเล (Palazzo Ducale)
วังดูคาเลเป็นที่พักของผู้ปกครองเวนิส ซึ่งเรียกว่า Doge ถูกก่อสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 แต่ได้รับการตกแต่งและก่อสร้างเพิ่มเติมหลายครั้ง รูปโฉมด้านนอกในปัจจุบันเป็นผลงานจากศตวรรษที่ 19 เป็นศิลปะแบบโกธิค ได้รับการตกแต่งด้วยหินอ่อนสีชมพูจากเมืองเวโรน่า ภายในตกแต่งด้วยศิลปะหลายยุคสมัย แบ่งเป็นห้องต่างๆ มากมาย ประดับไว้ด้วยภาพวาดโดยศิลปินเวนิสหลายราย นอกจากนี้ยังมีห้องทรมานนักโทษ และทางออกไปยังสะพานแห่งการทอดถอนใจซึ่งเชื่อมไปยังคุก ว่ากันว่านักรักคาสโนว่าเคยถูกกักขังไว้ที่นี่ และสามารถหลบหนี ออกมาได้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 - 19.00 น. (ในช่วงฤดูร้อน) และ 9.00 - 17.00 น. (ในช่วงฤดูหนาว) ค่าเข้าชมคนละ 6.50 ยูโร

โบสถ์ซานมาร์โค (Basilica di San Marco)
โบสถ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของเวนิสแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่นักบุญมาร์ค ผู้ซึ่งเป็นที่นับถือในเวนิส ในฐานะนักบุญผู้เผยแผ่ศาสนาที่อิยิปต์ และถูกประหารชีวิต ก่อนที่ชาวเวนิสจะไปนำศพกลับมาเก็บไว้ที่โบสถ์ ซานมาร์โคแห่งนี้ จุดเด่นของโบสถ์ที่ซานมาร์โคอยู่ที่การมีโดมถึง 5 โดม ได้รับการตกแต่งด้วยศิลปะที่แตกต่างกัน ทางด้านหน้าได้รับการประดับด้วยรูปปั้นของนักบุญมาร์ค และรูปปั้นม้าบรอนซ์ 4 ตัว ซึ่งว่ากันว่าขโมยมาจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล ส่วนภายในโบสถ์เป็นที่เก็บรักษาศพของนักบุญมาร์ค จุดที่น่าสนใจอยู่ที่เพดาน กำแพง และพื้นซึ่งตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง ครอบคลุมระยะกว่า 4,000 ตารางเมตร เป็นเรื่องราวการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของนักบุญมาร์คและเรื่องราวในพระคัมภีร์ นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังมีพิพิธภัณฑ์ อยู่ด้วย ซึ่งจัดแสดงม้าบรอนซ์ กระเบื้องโมเสค บันทึกเรื่องราวต่างๆ สมัยยุคกลาง รวมทั้งวัตถุโบราณอื่นๆ มากมาย เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ถึงเสาร์ เวลา 9.45 - 17.00น. ส่วนวันอาทิตย์ เปิดให้เข้าชมเวลา 14.00 - 17.00น.ไม่เสียค่าเข้าชมถ้าเข้าเฉพาะโบสถ์ แต่ถ้าเข้าพิพิธภัณฑ์ในนั้นจะเสียค่าเข้าแตกต่างกันไป

จัตุรัสซานมาร์โค (Piazza San Marco)
ได้ชื่อว่าเป็นจัตุรัสที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งในอิตาลี ในบริเวณจัตุรัสจะมีร้านค้าและร้านอาหารไว้คอยบริการมากมาย รอบๆ จัตุรัสมีอาคารที่สำคัญสองแห่งคือ หอระฆัง และหอนาฬิกา

- หอระฆัง (Campanile) เป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในเวนิส นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปข้างบนเพื่อชมวิวของเมืองและลำน้ำได้ หอระฆังแห่งนี้เป็นที่ที่กาลิเลโอเคยทำการสาธิตกล้องส่องทางไกลของเขา เดิมทีหอนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ช่วยเหลือนักเดินเรือในตอนกลางคืน แต่ในยุคกลางกลับถูกใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ อย่างไรก็ตาม หอระฆังแห่งนี้เคยพังทลายลงในปี ค.ศ. 1902 และได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่ โดยเสร็จสมบูรณ์ในปี 1912 เปิดให้ขึ้นไปชมวิวเมืองได้ทุกวัน โดยเวลาที่เปิดจะแตกต่างกันไปในแต่ละฤดู โดยในฤดูร้อนเปิดตั้งแต่เวลา 9.00 - 19.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 5.20 ยูโร
- หอนาฬิกา (Torre dell’ Orologio) ได้รับการสร้างในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 หน้าปัดนาฬิกาเป็น
สีน้ำเงิน แสดงการหมุนเวียนของพระจันทร์ และจักรราศีต่างๆ มีเรื่องเล่าว่าช่างที่ออกแบบนาฬิกานี้ถูกทำให้ตาบอดหลังจากเสร็จงาน เพื่อมิให้ไปทำนาฬิกาแบบนี้ขึ้นอีก สามารถเข้าไปชมในหอนาฬิกาได้ แต่ต้องเข้าไปตามรอบของไกด์ทัวร์ ซึ่งจะมีเวลาแตกต่างกันไปในแต่ละวัน ใช้เวลาเข้าชมประมาณ 50 นาทีต่อหนึ่งรอบ เสียค่าเข้าชมคนละ 17 ยูโร

สะพานซิงห์ (Bridge of Sighs, Ponte dei Sospiri)
สะพานซิงห์เป็นสะพานเก่าแก่ที่เชื่อมต่อระหว่างวังดูคาเลกับคุกเก่า เป็นเส้นทางลำเลียงนักโทษเข้าสู่ตัวคุก ออกแบบโดย Antoni Contino ในปี ค.ศ.1602 สร้างมาจากหินปูนสีขาว มีช่องหน้าต่างให้มองออกมาได้ เพื่อให้นักโทษได้ชมความสวยงามของท้องฟ้า และทะเลแห่งเวนิสเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต โดยชื่อ Lord Byron ได้ตั้งชื่อว่าสะพานซิงห์ (Sigh) ในศตวรรษที่ 19 เนื่องมาจากนักโทษจะได้ถอนหายใจเป็นครั้งสุดท้ายที่สะพานแห่งนี้นั่นเอง

สะพานริอัลโต (Rialto)
สะพานแห่งนี้เดิมทีเป็นสะพานไม้ และสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 หลังจากที่พังทลายลง สะพานหินก็ถูกสร้างขึ้นทดแทน และเป็นสะพานข้าม Grand Canal เพียงแห่งเดียวจนถึงปี ค.ศ. 1854 จนกลายเป็น
ศูนย์กลางการคมนาคม และค้าขายแลกเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของเวนิส ใครที่มาเวนิสแล้วไม่ได้มาข้ามสะพานนี้ถือว่ามาไม่ถึง เป็นจุดถ่ายภาพที่สำคัญแห่งหนึ่ง รอบๆ สะพานเป็นย่านขายของที่ระลึกและตลาดขายของสด

5.เทศกาลสวมหน้ากาก (Venice Carnival)
              งานเทศกาลในเมืองเวนิสนั้นที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1268 แต่การเฉลิมฉลองโดยมีสวมหน้ากากรวมถึงแต่งองค์ทรงเครื่องกันอย่างอลังการเพิ่งจะมีขึ้นในเกือบสองร้อยปีให้หลัง เมื่อช่างทำหน้ากากหรือ “mascareri” ได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1436 สมัยก่อนนั้นชาวเวนิสสวมหน้ากากกันจนเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 18 ถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองมากของการสวมหน้ากาก ผู้คนในสาธารณรัฐเวนิสสวมหน้ากากออกจากบ้านถึงปีละ 8 เดือน
         แต่หลังจากการยึดครองของกองทัพของนโปเลียนในปี 1797 เมื่อเวนิสกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลอมบาร์ดี-เวเนเทีย ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปการยึดครองนำมาซึ่งการสั่งห้ามการจัดงานเฉลิมฉลองงานรื่นเริงเป็นเวลาหลายปี ผู้คนไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้หน้ากากเปเปอร์มาเช่เพื่อปกปิดหน้าตา และงานเต้นรำสวมหน้ากากก็ถูกห้าม จนกระทั่งทศวรรษที่ 1970 ประเพณีดั้งเดิมดังกล่าวถูกฟื้นขึ้นมาใหม่ เมื่อกลุ่มของอดีตนักศึกษาอคาเดมี ออฟ ไฟน์ อาร์ต ได้เปิดร้านขายหน้ากากสมัยใหม่แห่งแรกของกรุงเวนิสขึ้นในปี 1978

บรรณานุกรม
http://sites.google.com/site/vaniceitaly/-venice-1